เรือนพฤกษศาสตร์ Conservatory of Flowers เป็นจุดหมายอันน่าพึงใจสำหรับผู้ชื่นชอบพฤกษศาสตร์ เข้าไปชมภายในเรือนกระจกจากช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ที่ได้รับการบูรณะแล้ว และสำรวจดูพืชพันธุ์แปลกตาที่เติบโตอยู่ภายในนั้น พบกับทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่กล้วยไม้และพืชจำพวกปรงไปจนถึงพืชพันธุ์ที่หายากที่สุด เช่น ดอกบุกยักษ์ที่บานเพียงแค่หนึ่งครั้งในทุก 5-10 ปี
ส่วนประกอบต่างๆ ของเรือนกระจกได้รับการสั่งซื้อในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 โดยคนใจบุญและนักธุรกิจผู้มั่งคั่งนามว่า James Lick และได้มีการสร้างขึ้นในปี 1879 ทำให้ Conservatory of Flowers กลายเป็นเรือนกระจกไม้ที่เก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ชมโครงสร้างที่เป็นไม้และกระจกซึ่งได้รับการบูรณะมาหลายครั้งนับตั้งแต่ก่อสร้าง รวมทั้งโครงการล่าสุดที่มีการเปิดขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 2003
เดินเที่ยวรอบๆ เรือนกระจกแห่งยุควิตอเรียเพื่อพบกับพืชพันธุ์ทั้งที่ไม่ธรรมดาและพืชพันธุ์หายากนานาชนิด นอกจากดอกไม้หลากสีสันขนาดใหญ่ที่สะกดสายตาแล้ว เรือนกระจกยังรวบรวมพันธุ์ไม้ที่แปลกตาอื่นๆ ไว้อีกด้วย ลองมองหาคาร์นิวอรัส ฮีเลียมพอร่า หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ ซันพิตเชอร์ ต้นไม้เหล่านี้เติบโตในป่าของเวเนซุเอลา กายอานา และบราซิล มันจะดักจับแมลงไว้ภายในใบที่ม้วนได้ พืชชนิดอื่นๆ ที่โดดเด่น ได้แก่ ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงของ Robert Cantley ซึ่งพบได้ในป่าเฉพาะบนเกาะมินดาเนาของฟิลิปปินส์ และกล้วยไม้ Lycaste ที่มีกลีบดอกอันเปราะบางสีเหลือง
อย่าลืมมองหาดอกบุกยักษ์ หรือที่เรียกกันว่า Terra the Titan พืชชนิดนี้จะส่งกลิ่นเหม็นในช่วงที่ออกดอกซึ่งเป็นโอกาสอันหายาก โดยจะมีช่วงที่มีดอกเพียงระยะเวลาสั้นๆ แค่สองสามวัน ตามปกติแล้ว จะออกดอกเพียงแค่หนึ่งครั้งในทุกสิบปี ครั้งล่าสุดที่ดอกไม้ชนิดนี้ของเรือนกระจกเบ่งบานคือในเดือนมิถุนายน 2017 โดยมีดอกที่ระดับความสูง 2 เมตร
พบกับเรือนพฤกษศาสตร์ Conservatory of Flowers ได้ที่บริเวณมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอุทยานโกลเด้นเกทพาร์ค มีป้ายจอดรถประจำทางอยู่ใกล้ๆ กับเรือนพฤกษศาสตร์ มีที่จอดรถให้บริการสำหรับรรถจักรยานและรถยนต์ภายในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม มีที่จอดรถจำนวนจำกัด สถานที่แห่งนี้เปิดระหว่างวันอังคารถึงวันอาทิตย์ รวมทั้งในวันจันทร์ที่เป็นวันหยุดสำคัญ เช่น วันรำลึกถึงทหารผ่านศึก วันแรงงาน และวันประกาศอิสรภาพ ทั้งนี้ มีการคิดค่าบริการเข้าชม หากเดินทางมาเยือนในวันอังคารแรกของทุกเดือน จะเข้าชมได้ฟรี