เยี่ยมชมป้อมรัมนาการ์ (Ramnagar Fort) ริมแม่น้ำ และเดินเล่นภายในสถาปัตยกรรมยิ่งใหญ่อันสง่างาม พร้อมกับดูพระอาทิตย์ที่กำลังตกขอบฟ้า ซึ่งสาดแสงสีทองอัศจรรย์บนหลังคาของบ้านเรือนในเมืองพาราณสี สำรวจพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมโบราณวัตถุมีค่าอย่างรถโบราณ เฟอร์นิเจอร์ในอดีต ภาพวาด และอาวุธ ป้อมรัมนาการ์สร้างตามแบบฉบับสถาปัตกรรมของอาณาจักรโมกุลในศตวรรษที่ 17 ปัจจุบันเป็นสถานที่พำนักของมหาราชาแห่งพาราณสี
ไต่ขึ้นบันไดที่จะนำคุณสู่ประตูทางเข้าอันยิ่งใหญ่ของป้อม ผ่านเข้าสู่ลานขนาดใหญ่ ล้อมรอบด้วยป้อมปราการราชวังค์อันน่าเกรงขามที่เสื่อมสภาพลงไปตามกาลเวลา ใช้เวลาชื่นชมประตูโค้ง ระเบียง ยอดอาคาร และหอคอยต่าง ๆ สังเกตผลงานศิลปะชดช้อยที่ตกแต่งผนังหินทรายอันแข็งแกร่งไว้อย่างประณีต มองลอดเข้าไปในห้องต้อนรับและห้องโถงดูร์บาร์ ซึ่งเคยเป็นท้องพระโรงของกษัตริย์อินเดียในอดีต ตามหารูปปั้นแกะสลักที่น่าฉงนในวัดสองวัดภายในป้อมนั่นคือ วัดพระวิษณุ (Vishnu Temple) และวัดวยาสะ กาสี (Vyasa Kasi Temple)
ในพิพิธภัณธ์ของป้อมรัมนาการ์ จะมีการแสดงวัตถุโบราณต่าง ๆ ดูรถโบราณอย่างรถคาร์ดิลแลค รถม้าสีเงิน ชมกลุ่มคลังแสง ซึ่งประกอบด้วยกริช ปืน หอก และดาบ ชื่นชมภาพวาดเหมือนของมหาราชา เครื่องดนตรีเก่าแก่ และนาฬิกาโหราศาสตร์ อย่าพลาดชมเก้าอี้ประดับเพชรพลอยราคาแพง ชุดของขุนนาง และคัมภีร์ศาสนา
ควรวางแผนการมาเที่ยวป้อมของคุณให้พอดีกับเวลาที่พระอาทิตย์ตกดิน ลงไปนั่งที่ขั้นบันไดริมแม่น้ำ พลางเฝ้ามองพระอาทิตย์ตกขอบฟ้า ซึ่งจะทอแสงสีทองลงบนผืนน้ำและหลังคาบ้านเรือน เรือมากมายรายเรียงอยู่ในแม่น้ำ ก่อให้เกิดเป็นฉากหน้าอันงดงาม ควรค่าแก่การถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกอย่างยิ่ง
ป้อมรัมนาการ์ตั้งตระหง่านอยู่บนฝั่งแม่น้ำด้านตะวันออกของแม่น้ำคงคาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองพาราณสี ใช้เวลาขับรถจากถนนโกโดวเลีย โชวก์ (Godowlia Chowk) 45 นาที หรือนั่งเรือจากท่าทศวเมธ (Dasaswamedh Ghat) เป็นเวลา 1 ชั่วโมง หรือจะเดินข้ามสะพานลอยน้ำ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยบาณารัส ฮินดู (BHU) ก็ได้ แต่ช่วงหน้ามรสุมอาจเดินมาที่สะพานได้ไม่สะดวกนัก เพราะระดับน้ำจะสูงขึ้นกว่าปกติ
ป้อมรัมนาการ์และพิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นในช่วงเทศกาลสำคัญ โดยจ่ายค่าธรรมเนียมค่าเข้าชมแค่ครั้งเดียว ก็จะเข้าดูได้ทั้งป้อมและพิพิธภัณฑ์ ป้อมรัมนาการ์จะคนเยอะเป็นพิเศษในเดือนตุลาคมช่วงเทศกาลดูเซร่า (Dussehra) ซึ่งเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองชัยชนะของความดีเหนือความชั่วร้ายของชาวฮินดู