โดย Expedia Team, 6 October 2016

รวม 6 เทศกาลประเพณีไทยในเดือนตุลาคม 2559

ใกล้สิ้นปีแบบนี้เทศกาลและงานประเพณีไทยดี ๆ มีให้เลือกไปร่วมงานเพียบเลยค่ะ ซึ่งแต่ละเทศกาล แต่ละประเพณีไทย ต่างก็มีมนตร์เสน่ห์แตกต่างกันออกไป และวันนี้เราก็ได้รวบรวมเทศกาลประเพณีไทยในเดือนตุลาคม 2559 ทั้ง 4 ภาคของไทยมาให้ได้ทราบกัน จะได้เตรียมตัวให้พร้อม เลือกวันหยุดให้ตรงและวางแผนเที่ยวกันถูกค่ะ

รวม 6 เทศกาลประเพณีไทยในเดือนตุลาคม 2559


1

ประเพณีไหลเรือไฟนครพนม จ.นครพนม

เทศกาล-8

ภาพจาก :facebook.com/tatnakhonphanom

ประเพณีไหลเรือไฟนครพนม จ.นครพนม เป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนชาวอีสานยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณในเทศกาลออกพรรษา ซึ่งจะทำกันในวันขึ้น 15 คํ่า หรือ แรม 1 คํ่า เดือน 11 ตามแม่นํ้าลำคลอง โดยมีความเชื่อว่าการไหลเรือไฟเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่พระพุทธองค์ประทับไว้ ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทานที ครั้งที่พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธองค์ไปแสดงธรรมในพิภพของนาคใต้เมืองบาดาล รวมทั้งความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพญานาคในลำน้ำโขง การระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา ขอขมาลาโทษต่อแม่น้ำ ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในแม่น้ำ และยังถือเป็นการลอยเคราะห์ลอยโศก ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข มีโชคมีลาภ โดยวันงานคุณจะได้พบกับขบวนเรือไฟที่ยิ่งใหญ่อลังการเหนือลำน้ำโขง พร้อมร่วมงานพาแลงและลอยเรือไฟโบราณเพื่อบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และพญานาคตามความเชื่อที่สืบต่อกันมาค่ะ กำหนดการเพิ่มเติมดูได้ที่ www.thatphanom.com

กำหนดการ
พักที่ไหนดี?
สถานที่จัดงาน
การเดินทาง

2

เทศกาลออกพรรษาบั้งไฟพญานาค จ.หนองคาย

เทศกาล-6

ภาพจาก :facebook.com/PhisucnBangfiPhyanakh

เทศกาล-7

ภาพจาก :facebook.com/PhisucnBangfiPhyanakh

ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในลำน้ำโขง เฉพาะที่ จ.หนองคาย ภาคอีสานของเราเท่านั้น และจะปรากฏให้เห็นในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ยกเว้นปีที่มีเดือนแปดสองหนตามปฏิทินทางจันทรคติ ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 สำหรับบั้งไฟพญานาค ตามตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าได้เสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากเสด็จไปโปรดพุทธมารดาเป็นเวลา 3 เดือน เมื่อกลับสู่โลกมนุษย์เหล่าบรรดาพญานาคี นาคเทวี พร้อมทั้งบริวารก็ได้จัดทำเครื่องบูชาและพ่นบั้งไฟถวาย ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “บั้งไฟพญานาค” นั่นเองค่ะ

สำหรับปีนี้กิจกรรมที่สำคัญจะจัดขึ้นทั้งที่เทศบาลเมืองหนองคายและอำเภอโพนพิสัยค่ะ โดยภายในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย จะประกอบด้วย การแสดงแสงเสียงเปิดตำนานบั้งไฟพญานาค, ถนนอาหาร, การแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานฯ และจุดพลุเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นต้น ส่วนกิจกรรมที่จัดในเขตอำเภอโพนพิสัย งาน “ประเพณีไหลเรือไฟ บั้งไฟพญานาคโลก” นั้น ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาหลายกิจกรรม เช่น ไหลเรือไฟ, ตักบาตรเทโวโรหณะ, การทำบุญมหากุศล 9 วัด, การเจริญศีล สวดมนต์ภาวนา และนั่งสมาธิ, การบวงสรวง “บูชาพญานาค” การแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2559 โดยในงานจะมีการแสดง Light and Sound ตำนานบั้งไฟพญานาคบูชาพระพุทธด้วยค่ะ ดูกำหนดการเพิ่มเติมได้ที่ www.phonphisainongkhai.com

กำหนดการ
พักที่ไหนดี?

3

ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ จ.นครศรีธรรมราช

เทศกาล-4

ภาพจาก :thainews.prd.go.th

ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ หรือวันสารทไทย ตามที่คนภาคกลางเรียก ถือเป็นงานบุญประเพณีที่สำคัญในภาคใต้เราค่ะ โดยเฉพาะชาว จ. นครศรีธรรมราช การทำบุญวันสารทมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้วค่ะ โดยประเพณีจะจัดขึ้นในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับไปแล้ว เพราะเชื่อว่างานนี้ผู้ล่วงลับจะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างเต็มที่ และเป็นแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ หรือผีไร่ ผีนาที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงาม สำหรับขนมที่ใช้ในประเพณีบุญสารทเดือนสิบที่สำคัญ ได้แก่ กระยาสารท ข้าวยาคู ข้าวมธุปายาส (ข้าวที่หุงเจือด้วยน้ำนมและน้ำผึ้ง) และข้าวทิพย์

โดยวันงานจะมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทำบุญตักบาตรด้วยขนมกระยาสารท ตักบาตรน้ำผึ้ง การประกวดแข่งขันศิลปะ การประกวดหฺมฺรับและขบวนแห่หฺมฺรับ การตั้งเปรตและชิงเปรต การประกวดนางสาวนครศรีธรรมราช เป็นต้น

กำหนดการ
พักที่ไหนดี?
การเดินทาง

4

ประเพณีรับบัว จ. สมุทรปราการ

เทศกาล-10

ภาพจาก :sites.google.com

งานประเพณีรับบัว เป็นประเพณีของชาวบางพลี จ.สมุทรปราการ ที่คนไทย ลาว รามัญ สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ประเพณีรับบัวหรือการโยนดอกบัวลงในเรือ เป็นการสักการะหลวงพ่อโตที่เคารพของชาวไทยและชาวมอญค่ะ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 11 ตามตำนานเล่าว่า หลวงพ่อโตลอยตามน้ำเจ้าพระยา และมาหยุดที่ปากคลองสำโรง ซึ่งเป็นการแสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ว่าจะจำพรรษาอยู่ละแวกนั้น ชาวบ้านจึงช่วยกันชักรั้งนิมนต์เข้ามาจนถึงวัดบางพลีใหญ่ใน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานปัจจุบัน และได้อัญเชิญขึ้นไว้ในโบสถ์ หลวงพ่อโตจึงเป็นหลวงพ่อของชาวบางพลีตั้งแต่นั้นมา

และในสมัยก่อนอ.บางพลี เป็นแหล่งที่มีดอกบัวหลวงชุกชุมและมีมากในฤดูฝน ดังนั้น การบำเพ็ญกุศลในเทศกาลออกพรรษา ผู้ศรัทธาจึงพากันนำดอกบัวหลวงมาทำพิธีรับบัวโยนบัว โดยทุกปีจะมีการอัญเชิญหลวงพ่อโตจำลอง ลงเรือแห่ไปตามลำคลองสำโรง เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมสักการบูชาโดยการโยนดอกบัวลงไปในเรือที่องค์หลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่ เชื่อกันว่า หากสามารถโยนดอกบัวลงไปในเรือที่องค์หลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่แล้ว อธิษฐานสิ่งใดไว้ก็จะประสบความสำเร็จดังหวังค่ะ

กำหนดการ
พักที่ไหนดี?
สถานที่จัดงาน
คลองสำโรง หน้าวัดบางพลีใหญ่ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

4

ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่าและแข่งขันเรือยาว จ.สุราษฏร์ธานี

เทศกาล-9

ภาพจาก :www.headmediaradio.com

เทศกาล-2

ภาพจาก :www.xn--k3cikmwc5gwb5fxbya.com

ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งขันเรือยาว เป็นประเพณีสำคัญที่จัดสืบเนื่องต่อกันมากว่า 100 ปี โดยจะเริ่มจัดขึ้นในช่วงวันออกพรรษา ซึ่งแต่ละวัดจะทำบุษบกหรือพนมพระตกแต่งอย่างสวยงาม ตรงกลางบุษบกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรตามคติทางพุทธศาสนาแล้วให้ประชาชนลากไป เมื่อเสร็จพิธีลากพระ (ทั้งบนบกและในน้ำ) จะนำพระไปทำความสะอาด และมีพิธีสงฆ์สมโภชพระลากในตอนค่ำ โดยจะมีพระสงฆ์มาเทศน์เกี่ยวกับการเสด็จของพระพุทธเจ้าจากดาวดึงส์ลงสู่โลกมนุษย์ นอกจากนั้นยังมีการจัดพุ่มผ้าป่าหน้าบ้านในคืน 15 ค่ำ เดือน 11

ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม 2559 โดยในแต่ละปีจะมีพุ่มผ้าป่าทั่วเมืองกว่า 1,000 พุ่ม และเช้าของวันแรม 1 ค่ำ จะมีการชักพุ่มผ้าป่าพร้อมกันทั่วเมือง พร้อมกับมีการแห่รถ เรือพนมพระ จากวัดต่าง ๆ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีกว่า 100 วัด และพระสงฆ์จะทำการชักพุ่มผ้าป่าหน้าบ้านพร้อมกันทั่วเมืองในเช้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งตรงกับวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2559 นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกด้วย ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่าและแข่งขันเรือยาว เป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ในช่วงเทศกาลออกพรรษา และถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ นับเป็นวัฒนธรรมประเพณีไทยอันล้ำค่าและเป็นเอกลักษณ์ของ จ.สุราษฎร์ธานีจนถึงปัจจุบัน

กำหนดการ
พักที่ไหนดี?
การเดินทาง

6

งานประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด (แห่จองพารา) จ.แม่ฮ่องสอน

เทศกาล-3

ภาพจาก :www.maehongson.go.th

ประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ดเป็นประเพณีของทางภาคเหนือ ตามความเชื่อของชาวไทยใหญ่ ชาวบ้านจะประดิษฐ์จองพาราและประดับตามบ้านเรือน เพื่อแสดงถึงการรับเสด็จพระพุทธเจ้าที่เสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์กลับมาสู่โลกมนุษย์ เป็นงานบุญออกพรรษานั่นเองค่ะ โดยทุก ๆ ปีจะมีขบวนแห่จองพาราหรือปราสาทไม้จำลอง ประดับด้วยกระดาษสีต่าง ๆ หน่อกล้วย โคมไฟ ตกแต่งอย่างสวยงาม การประกวดจองพารา ประกวดการฟ้อนนกกิ่งกะลา รำโตสัตว์สองเท้า สี่เท้าในวรรณคดี และพิธีตักบาตรเทโวโรหนะ

กำหนดการ
พักที่ไหนดี?
สถานที่จัดงาน
เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน